29.11.10

likaybindery no.242 . . .

There is a book . . .
. . . in a box !
likaybindery no.242 (custom-made)

4.11.10

ปารีส . . . หนาวมากกกกก !

หนีร้อนไปพึ่งหนาว(มาก)ที่ลอนดอนและปารีสมาเมื่อต้นเดือนที่แล้วค่ะ ได้มีโอกาสไปเดินเล่นบนถนน Pont Louis Phillippe แห่งปารีส เป็นถนนเส้นเล็กๆที่มีร้านรวงสวยงาม รวมไปถึงร้านกระดาษและเครื่องเขียนของชอบ ร้านแรก Melodie Graphiques มีทั้งสมุดและกระดาษที่ทำด้วยมืออย่างประณีต กระดาษส่วนใหญ่ของที่นี่จะเป็นกระดาษ marble paper หรือกระดาษลายหินอ่อน เนื้อกระดาษสวยและหนากว่ากระดาษ marble paperทั่วไป ที่สำคัญส่วนใหญ่จะมีเพียงอย่างละแผ่นไม่ซ้ำใครค่ะ! นอกจากนี้สำหรับผู้ชื่นชอบงาน calligraphy ที่ร้านMelodie Graphiques ยังเป็นแหล่งรวมภู่กันและปากกาคอแร้งหลากหลายชนิดด้วยนะคะ สำหรับร้านที่สองห่างจากกันไม่กี่อึดใจ คือร้าน Papier + (Papier Plus) เป็นร้านเครื่องเขียนและ portfolioที่มีดีไซน์เรียบง่ายแต่ผลิตจากกระดาษคุณภาพสูง (สวย ย ย ย . . . ^ ^) ที่สำคัญมีทุกเชดสี (จนอยากได้ไปหมดทุกสี!) ให้เลือกใช้ค่ะ ถ้ามีโอกาสไปเยี่ยมเยือนกรุงปารีส อย่าพลาดถนนเส้นเล็กๆที่ชื่อ Pont Louis Philippe นะคะ . . . A Bientot !

Melodie Graphiques: 10 Rue du Pont Louis Philippe 75004 Paris, Tel. 01 42 74 57 68
Papier +: 9 Rue du Pont Louis Philippe 75004 Paris, Tel. 01 42 77 70 49
Calligrane: 6 Rue du Pont Louis Philippe 75004 Paris Tel. 01 48 04 09 00

13.9.10

A Nighttime Wind: likaybindery at BACC

Paper Matter Exhibition at BACC








 A Nighttime Wind . . .

การดูและครุ่นคิดต่อสิ่งที่วางอยู่ตรงหน้าอาจนำไปสู่การตีความหรือกระตุ้นความรู้สึกได้ต่างกันไป คุณค่าในเชิงความงามอาจไม่ใช่การรับรู้ด้านความสวยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเล่นกับความรู้สึกที่บางครั้งเราไม่สามารถอธิบายได้ หนังสือที่กินพื้นที่นี้เป็นการทดสอบ 'ความเป็นหนังสือ' ในกรอบของการให้หนังสือเป็นที่แสดงออกของแนวคิดและแสดงรูปทรง ดังนั้นการอ่านคือการ 'สัมผัส' โดยความรู้สึก มิใช่การอ่านหนังสือตามครรลอง

'งานปฏิมากรรมกระดาษ' ชิ้นนี้ เริ่มต้นจากการทดลองและย่ำยีวัสดุกระดาษสีดำ เมื่อวัสดุถูกฉีก คู่ตรงข้ามของความหยาบและความมัน ความเหลืออยู่กับสิ่งที่หายไป ทำให้รูปทรงของกระดาษเด่นชัดขึ้น ผนวกกัับการเย็บสมุดแบบ Chain Stitching
ซึ่งเป็นการนำวิธีการเย็บสมุดสมัยโบราณแบบไม่ใช่กาว แต่เย็บเชื่อมต่อแต่ละท่อนของกระดาษให้เกิดเป็นตัวเล่ม ช่วยอำนวยให้เกิดโครงสร้างและการยืดหยุ่นทำให้สามารถปั้นรูปทรงที่เกิดจากวัสดุกระดาษ งานชิ้นนี้ต้องการผลักความเป็นไปได้ของศักยภาพกระดาษในเชิงที่ว่า กระดาษจะสามารถสร้างการรับรู้ทางการมองเห็นและความรู้สึกของผู้ดูไปได้ไกลแค่ไหน ชิ้นงานเป็นการสร้างพื้นที่ในเชิงภูมิประเทศ (landscape) ที่เมื่อมองเผินๆ อาจเห็นเป็นภาพโครงร่างสีดำ (silhoutte) ของพื้นที่แห่งหนึ่ง ความมืดดำของชิ้นงานอาจล่อให้ผู้ดูเชื่อมโยงรูปทรงกับอะไรบางสิ่ง หรือ จริงๆแล้วมันคือความว่างเปล่า เพราะความดำคือความไม่มีอะไรก็เป็นไปได้ กระดาษที่ถูกฉีกเมื่อนำมาซ้อนทับกัน ความเหลื่อมล้ำของแต่ละแผ่นส่งให้กระดาษที่เชื่อว่าเป็นวัสดุที่บอบบางกลับดูแข็งแกร่ง และในความแข็งแกร่งนั้นเกิดปลี่ยนแปลงรูปร่างเพื่อแสดงถึงการมีชีวิตของชิ้นงาด้วย

ผลงาน A Nighttime Wind เชื่อมต่อกับผลงาน An Archeology of Memory ที่เคยจัดแสดงไปในแง่ของการค้นหาความหมายของ 'ร่องรอย' ที่ตกค้างจากการเย็บสมุด งานชิ้นที่ผ่านมา (An Archeology of Memory) เป็นการนำร่องรอยที่เหลือจากการเย็บสมุดมาใส่บริบทใหม่โดยยังคงเก็บรายละเอียดของเศษกระดาษที่มีอยู่เดิมนำมาประกอบเป็นหนังสือเล่มใหม่ สำหรับงานชิ้นนี้ ความเป็น 'ร่องรอย' ถูกท้าทายด้วยความคลุมเคลือของรูปร่างชิ้นงาน มองบางมุมอาจดูเหมือนเศษซากของอะไรบางสิ่ง หรือ มองอีกมุมอาจเหมือนว่ารูปร่างนี้กำลังนำไปประกอบตัวไปสู่สิ่งที่มีชีวิต

ขอเชิญเยี่ยมชมผลงาน A Nighttime Wind จาก likaybindery ได้




ณ.นิทรรศการ “Paper Matter กระดาษเป็นเรื่อง”
ซึ่งนำเสนอผลงานสร้างสรรค์จากกระดาษไม่จำกัดรูปแบบ
โดยนักออกแบบและศิลปินทัศนศิลป์ที่มีประสบการณ์สร้างสรรค์งานจากกระดาษ
ได้แก่ ลิเกบายเดอรี่, ฟาร์มกรุ๊ป, แพรคทิเคิล และ นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์




นิทรรศการครั้งนี้จัดโดยความร่วมมือของสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย
ร่วมกับบริษัท แอนทาลิส (ประเทศไทย) จำกัด และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

จัดแสดงงานระหว่างวันที่ 11 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม 2553
ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน
เวลา 10.00 น. - 21.00 น. หยุดทุกวันจันทร์สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 02 2146630-8www.bacc.or.th

21.5.10

ห้องเย็บสมุดเคลื่อนที่ (ฉบับมาเยือนเมืองเชียงใหม่ . . . เจ้า!)

LIKAYBINDERY at BeenThereDoneThat, Chiang Mai
ห้องเย็บสมุดลิเกบายเดอรี่ (ฉบับเคลื่อนที่มาเยือนเชียงใหม่) ได้มีโอกาสนำผลงาน An Archaeology of Memory มาจัดแสดง พร้อมจัดกิจกรรมเย็บสมุดให้แก่ชาวเจียงใหม่ได้ออกกำลังกายมือและสายตากันค่ะ สถานที่จัดแสดงงานและห้องเรียนแสนสบายของเราคือ BeenThereDoneThat Guesthouse

ห้องเรียนบรรยากาศแสนสวย สบาย และอบอุ่น . . .
เคียงข้างห้องครัวแบบเปิด ช่วยทำให้กิจกรรมการเย็บสมุดสนุกสนาน
(และนำ้ลายไหล) เป็นระยะๆ . . .

โต๊ะทากาวและตัดกระดาษที่บรรยากาศดีที่สุดในโลก

ขอบคุณทุกคนที่มาร่วมชมผลงานและมาร่วมกิจกรรมเย็บสมุดด้วยกันนะคะ
ยินดีที่ได้พบกันค่า า า . . . ^ ^

ป.ล. สำหรับผู้ที่จะไปเยือนเชียงใหม่ และต้องการสัมผัสบรรยากาศแสนสวย สบาย และอาหารอร่อย แวะหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.beentheredonethatrooms.com นะเจ้า . . .
ขอบคุณน้องแอ้ที่ช่วยประสานงาน พี่แป้งสำหรับภาพเบื้องหลังงามๆ และพี่ต๋องที่ให้เราได้มีห้องเรียนที่แสนสบายที่สุดในโลกค่ะ
^ ^. . . ^ ^ . . . ^ ^ . . .

ของเล่นกระดาษ . . . วาด วาด วาด . . . หมุน หมุน หมุน

หนังสือคอมพิวเตอร์อาร์ต ไทยแลนด์ ได้จัดกิจกรรม"ลงไม้ลงมือ" โดยให้โอกาสห้องเย็บสมุดลิเกบายเดอรี่นำทีมผู้สนใจทำกิจกรรมกระดาษ หลบร้อนมาประดิษฐ์ของเล่นกระดาษกัน ณ.ห้องออดิทอเรียม TCDC เมื่อวันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมาค่ะ

ระดิษฐ์ของเล่นกระดาษ
Thaumatrope และ Phenakistoscope

วงล้อมหัศจรรย์ ! ! !

ขอบคุณทุกคนที่มาร่วมลงไม้ลงมือกัน
และหว้งว่าเราจะได้มีโอกาสพบกันอีกนะคะ ^ ^

17.3.10

4.3.10

Likaybindery at Bangkok Art and Culture Centre

An Archaeology of Memory . . .
The remainders of bookmaking from 2004 to 2009.

ร่องรอยและสิ่งที่เหลืออยู่จากการเย็บสมุดกว่า 200เล่ม ได้ถูกบันทึกและจัดเก็บลงในหนังสือเล่มใหม่ สำหรับเราผู้ทำสมุด สิ่งที่เหลืออยู่ไม่ว่าจะเป็นรอยของกระดาษที่ถูกตัด กรีด พับ หรือแม้กระทั้งรอยดินสอ ปากกา รอยเปื้อนของสี เหล่านี้คงไม่เพียงสร้างความสวยงามของเส้นเว้า โค้ง หรือรูปทรงแปลกตาเท่านั้น แต่สิ่งที่เหลือเป็นเหมือนตัวแทนของสมุดกว่า200เล่ม เป็นร่องรอยแห่งความทรงจำ กระบวนการ และช่วงเวลาณ.ขณะที่ได้ทำสมุดเหล่านั้นให้แก่เราผู้ทำสมุดได้อย่างดี

ขอเชิญผู้รักเศษกระดาษทุกท่านเข้าชมงาน An Archaeology of Memory
ณ.หอศิลปะวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ชั้น8 ภายในนิทรรศการไทยโย
ตั้งแต่วันที่ 4มีนาคม - 3เมษายน 2553

ป.ล. ลิเกบายเดอรี่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเจ้าของสมุดกว่า200เล่มทุกท่าน คงได้สร้างร่องรอยแห่งความทรงจำลงบนสมุดเหล่านั้นเช่นกัน และหวังเป็นที่สุดว่าเราคงได้ทำความรู้จักกันไม่ช้านี้นะคะ ขอบคุณมากค่ะ